William I (1797–1888)

ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๙๙–๒๔๓๐)

 ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ที่สถาปนาขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๗๑ ก่อนหน้านั้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๑ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งปรัสเซีย และดำรงพระอิสริยยศนี้ควบคู่กับพระอิสริยยศไกเซอร์เมื่อราชอาณาจักรปรัสเซียได้รวมตัวกับราชอาณาจักรและราชรัฐอื่น ๆ ในดินแดนเยอรมันเป็นประเทศ จนเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. ๑๘๘๘ พระองค์ทรงได้รับการฝึกฝนเป็นทหารตั้งแต่ทรงพระเยาว์และทรงมีนิสัยเป็นทหารตลอดพระชนม์ชีพ ทรงเป็นผู้ริเริ่มให้มีการปฏิรูปกองทัพปรัสเซียโดยมีออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีช่วยสนับสนุนและวางแผนให้ปรัสเซียมีแสนยานุภาพทางการทหารจนสามารถเป็นผู้นำของดินแดนเยอรมันและก่อสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐–๑๘๗๑)* จนรวมชาติเยอรมันได้สำเร็จหลังจากการจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมันแล้ว ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ ในวัยชราก็ทรงปล่อยให้บิสมาร์คบริหารประเทศแต่เพียงลำพังเป็นส่วนใหญ่

 ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๓ (Frederick William III ค.ศ. ๑๗๙๗–๑๘๔๐)* และสมเด็จพระราชินีลุยซาแห่งเมคเลนบูร์ก-ชเตรลิทซ์ (Louisa of Mecklenburg-Strelitz) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๗ ณ กรุงเบอร์ลิน ในปลายรัชกาลพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๒ (Frederick William II ค.ศ. ๑๗๘๖–๑๗๙๗) พระอัยกา ในขณะที่พระราชบิดายังทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ มีพระยศและพระนามเดิมว่า เจ้าชายวิลเลียมเฟรเดอริก หลุยส์ (William Frederick Louis หรือ Wilhelm Friedrick Ludwig ในภาษาเยอรมัน) เนื่องจากมีพระเชษฐาที่ทรงมีสิทธิและอยู่ในลำดับของการสืบราชบัลลังก์เป็นลำดับแรก ทั้งไม่มีผู้ใดคาดหวังว่าพระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในอนาคตด้วยเจ้าชายวิลเลียมจึงมิทรงได้รับการถวายการศึกษาและการฝึกฝนให้เป็นนักปกครองหรือนักบริหาร แต่ทรงถูกปลูกฝังให้เป็นทหารและทรงเครื่องแบบทหารตั้งแต่พระชันษา ๖ ปี ซึ่งถูกกับพระอุปนิสัยที่ชอบระเบียบวินัยและการผจญภัย ทั้งพระองค์ก็ไม่ทรงโปรดการศึกษาวิชาการทั่วไป และเมื่อเจริญพระชันษาขึ้นก็รู้สึกสบายพระทัยเมื่อประทับอยู่ในกลุ่มพระสหายที่เป็นทหารด้วยกัน

 เจ้าชายวิลเลียมประสูติและทรงเติบโตท่ามกลางสงครามระหว่างปรัสเซียกับฝรั่งเศสที่ยืดเยื้อนับแต่สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒–๑๘๐๒)* จนถึงสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* การพ่ายแพ้อย่างยับเยินของกองทัพปรัสเซียในยุทธการที่เมืองเยนา (Battle of Jena ค.ศ. ๑๘๐๖)* และถูกกองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดครองกรุงเบอร์ลินซึ่งทำให้ฝรั่งเศสในเวลาต่อมากลายเป็นผู้นำของดินแดนเยอรมันตอนเหนือแทนปรัสเซีย (และออสเตรีย) และการสูญเสียดินแดนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเอลเบ (Elbe) ของปรัสเซียให้แก่ฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาทิลซิท (Treaty of Tilsit ค.ศ. ๑๘๐๗)* ทำให้พระองค์ทรงจดจำฝังพระทัย ต่อมาด้วยพระนิสัยทหารจึงตั้งพระทัยจะฟื้นฟูเกียรติยศของปรัสเซียและเสริมสร้างกำลังทัพให้เข้มแข็งเพื่อเป็นที่เกรงขามของนานาประเทศ

 ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๐๗ ก่อนการทำสนธิสัญญาทิลซิทระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซียที่มีผลกระทบโดยตรงต่อปรัสเซียดังกล่าวเจ้าชายวิลเลียมในพระชันษา ๙ ปี ทรงเข้าสังกัดกองทัพปรัสเซียและได้รับพระราชทานยศร้อยโทเป็นของขวัญคริสต์มาสและอีก ๗ ปีต่อมา ทรงมีโอกาสรบกับกองทัพฝรั่งเศสในปลายสงครามนโปเลียนในยุทธการเมืองไลพ์ซิก (Battle of Leipzig) หรือเป็นที่รู้จักกันว่า สงครามปลดปล่อย (War of Liberation ค.ศ. ๑๘๑๓)* พระองค์ทรงได้รับยศร้อยเอกและประจำในกองทัพซึ่งมีจอมพล เกบฮาร์ด เลเบเรชท์ ฟอน บลือเชอร์ (Gebhard Leberecht von Blücher)* เป็นแม่ทัพบัญชาการรบในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* และยุทธการที่ลีญี (Battle of Ligny)* ซึ่งสามารถเผด็จศึกฝรั่งเศสได้ และเจ้าชายวิลเลียมก็เป็นนายทหารคนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องในความกล้าหาญและวีรกรรมขณะปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบ

 หลังการสิ้นอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* และการล่มสลายของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ เจ้าชายวิลเลียมทรงให้ความสำคัญด้านการทหารมากยิ่งขึ้นจนได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งของกองทัพปรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ พระองค์ทรงได้รับพระราชทานยศพลโทขณะเดียวกันก็ทรงมีทัศนคติทางการเมืองที่โน้มเอียงไปทางฝ่ายอนุรักษนิยมด้วย ใน ค.ศ. ๑๘๒๙ เจ้าชายวิลเลียมอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอากุสทาแห่งซักซ์-ไวมาร์ (Augusta of Saxe-Weimar) มีพระโอรสและพระธิดารวม ๒ พระองค์ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๔๐ เมื่อพระราชบิดาเสด็จสวรรคตและพระเจ้าเฟรเดอริกวิลเลียมที่ ๔ (Frederick William IV ค.ศ. ๑๘๔๐–๑๘๖๑)* พระเชษฐาซึ่งปราศจากพระราชโอรสธิดาเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าชายวิลเลียมทรงได้รับพระอิสริยยศเจ้าชายแห่งปรัสเซีย (Prince of Prussia) และอยู่ในฐานะรัชทายาทสมมติ (heir presumptive)

 ในด้านการเมือง นอกจากเจ้าชายวิลเลียมจะเป็นพวกอนุรักษนิยมแล้ว ยังทรงมีความเชื่อในทฤษฎีเทวสิทธิราชย์ (Theory of the Divine Rights of King) อีกด้วย พระองค์ไม่พอพระทัยในการดำเนินนโยบายประนีประนอมของพระเจ้าเฟรเดอริกวิลเลียมที่ ๔ กับพวกเสรีนิยม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน ค.ศ. ๑๘๔๗ เมื่อพระเชษฐาเปิดให้จัดการประชุมร่วมกันของสภาไดเอท (United Diet) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากมณฑลต่าง ๆ ที่อยู่ใต้อำนาจปกครองของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* อันมีนัยว่าสภาไดเอทดังกล่าวนี้เป็นผู้แทนของประชาชนทั่วไปในราชอาณาจักร (แต่ในความเป็นจริงเป็นผู้แทนของชนชั้นขุนนาง ผู้ดี และชาวเมืองที่มั่งคั่งเท่านั้น) ซึ่งสำหรับเจ้าชายวิลเลียมแล้วนับเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นสามารถแทรกแซงพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่มีตามทฤษฎีเทวสิทธิราชย์

 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ เมื่อการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ที่เริ่มต้นในฝรั่งเศสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และแพร่มายังดินแดนเยอรมันในต้นเดือนมีนาคม ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและต่อสู้ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐในเมืองต่าง ๆ และขยายตัวมายังกรุงเบอร์ลิน เจ้าชายวิลเลียมทรงพยายามปกป้องกรุงเบอร์ลินและปราบปรามผู้ก่อการปฏิวัติด้วยวิธีการใช้กำลังอย่างรุนแรง ทำให้พระองค์ไม่เป็นที่ชื่นชมของประชาชนโดยทั่วไปและได้รับสมญานามว่า “เจ้าชายแห่งกระสุนปืน” (Kartätschenprinz; Prince of Grapeshot) อย่างไรก็ดี ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่สามารถปราบปรามการลุกฮือได้กอปรกับการสิ้นอำนาจของเจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอนิช (Klemens Fürst von Metternich)* อัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรียและผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมและพวกปฏิกิริยาขวาจัดที่มีบทบาทและอิทธิพลสูงสุดในเวทีการเมืองในดินแดนเยอรมันเป็นเวลากว่า ๓๐ ปีทำให้พระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ ต้องทรงยินยอมผ่อนปรนตามข้อเรียกร้องของประชาชนและให้สัญญาที่จะจัดตั้งสภาแห่งชาติและพระราชทานรัฐธรรมนูญส่วนเจ้าชายวิลเลียมซึ่งไม่แน่พระทัยในผลของการปฏิวัติก็เสด็จลี้ภัยไปประทับในอังกฤษ

 ณ ประเทศอังกฤษ เจ้าชายวิลเลียมทรงมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗–๑๙๐๑)* และเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี (Albert, Prince Consort) ทั้ง ๒ พระองค์โดยเฉพาะเจ้าชายอัลเบิร์ตทรงแสดงความสนพระทัยอย่างมากต่อสถานการณ์ในดินแดนเยอรมันซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระองค์ด้วย และได้ประทานวโรกาสให้เจ้าชายวิลเลียมเข้าเฝ้าบ่อยครั้ง การมีโอกาสได้ทูลสนทนากับเจ้าชายอัลเบิร์ตทำให้เจ้าชายวิลเลียมทรงรับรู้เรื่องต่าง ๆ มากมายซึ่งก่อนหน้านี้ถูกปิดบังไม่ให้พระองค์ทรงทราบเนื่องจากฐานะนายพลแห่งกองทัพปรัสเซีย ส่วนเจ้าหญิงเอากุสทา พระชายามิได้เสด็จมาอังกฤษด้วยแต่ยังคงประทับที่เมืองพอทสดัม (Potsdam) ในปรัสเซีย และประทานโอกาสให้ออทโท ฟอน บิสมาร์ค นักการเมืองที่มีอนาคตสดใสในขณะนั้นได้เข้าเฝ้า ในความเป็นจริง การเข้าเฝ้าเจ้าหญิงเอากุสทามีนัยทางการเมืองที่สำคัญเพราะบิสมาร์คมาเจรจาในฐานะจารบุรุษของเจ้าชายชาลส์ พระอนุชาองค์เล็กในพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ เจ้าชายชาลส์ทรงเป็นนักปฏิกิริยาขวาจัดและต้องการดำเนินการทางการเมืองโดยดึงเจ้าชายเฟรเดอริก วิลเลียม [ต่อมาคือไกเซอร์เฟรเดอริกที่ ๓ (Frederick III ค.ศ. ๑๘๘๘)*] พระโอรสในวัยทารกในเจ้าชายวิลเลียมกับเจ้าหญิงเอากุสทาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย บิสมาร์คได้ทูลเสนอเจ้าหญิงเอากุสทาว่าพระสวามีควรสละตำแหน่งเจ้าชายแห่งปรัสเซียให้แก่พระโอรสเพื่อเจ้าชายชาลส์จะได้เชิดชูเจ้าชายเฟรเดอริก วิลเลียมในการก่อการปฏิวัติซ้อนเพื่อช่วงชิงอำนาจจากผู้ก่อการปฏิวัติกลับคืนมา เจ้าหญิงเอากุสทาซึ่งทรงเกลียดชังเจ้าชายชาลส์เป็นการส่วนพระองค์และพระองค์เองก็ทรงมีแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยมจึงทรงปฏิเสธข้อเสนอของบิสมาร์ค อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของบิสมาร์คที่จะตัดสิทธิการสืบสันตติวงศ์ของพระสวามีและใช้พระโอรสเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้เจ้าหญิงเอากุสทาทรงเห็นบิสมาร์คเป็น “ศัตรูคู่อาฆาต” (mortal enemy) ตลอดพระชนม์ชีพ และถ่ายทอดความเกลียดชังนี้ให้แก่พระโอรสด้วย ทำให้พระองค์และบิสมาร์คไม่สามารถเข้ากันหรือเป็นมิตรต่อกันได้ แม้ว่าในเวลาต่อมาบิสมาร์คจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งปรัสเซียและจักรวรรดิเยอรมันและคนสนิทของพระสวามี ทั้งยังเป็นผู้มีอำนาจที่สุดในจักรวรรดิเยอรมันด้วย

 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๘ เมื่อสถานการณ์การปฏิวัติในปรัสเซียเริ่มคลี่คลายลง เจ้าชายวิลเลียมทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะเสด็จกลับมายังกรุงเบอร์ลินในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๘๔๙ พระองค์ทรงนำกำลังทหารเข้าปราบปรามฝ่ายผู้ก่อการปฏิวัติที่เมืองบาเดิน (Baden)และพาลาทิเนท (Palatinate) ขณะเดียวกันสภาแห่งชาติแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt National Assembly)* ก็ประสบความล้มเหลวที่จะสถาปนาอำนาจส่วนกลางที่เข้มแข็งในดินแดนเยอรมันได้ จึงทำให้รัฐบาลของรัฐต่าง ๆ รวมทั้งปรัสเซียเป็นต่อฝ่ายปฏิวัติมากขึ้น ในที่สุดพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ ก็ใช้พระราชอำนาจยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญของปรัสเซียได้สำเร็จ และพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๘๕๐ ที่ให้อำนาจสูงสุดแก่กษัตริย์ ซึ่งสร้างความพอใจให้แก่เจ้าชายวิลเลียมเป็นอันมาก ในระยะเวลาดังกล่าวการรวมชาติเยอรมันก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันเพราะพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ ทรงปฏิเสธที่จะรับ “มงกุฎที่ใช้ธุลีอบ” (crown baked of dirt) ที่ผู้แทนจากรัฐต่าง ๆ ในสภาแห่งชาติแฟรงก์เฟิร์ตเสนอให้พระองค์เป็นประมุขของชาติเยอรมันที่จะจัดตั้งขึ้นเพราะทรงเห็นว่าข้อเสนอนั้นไม่ได้มาจากเบื้องสูงหรือหน่อกษัตริย์และเจ้าด้วยกัน

 อย่างไรก็ดี ขณะเดียวกันปรัสเซียก็ไม่สามารถปฏิเสธบทบาทการเป็นรัฐผู้นำในการจัดตั้ง “สหพันธรัฐเยอรมันเล็ก” (Little German Federation) ที่จะแยกตัวออกจากสมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation)* ที่จัดตั้งขึ้นตามมติของที่ประชุมในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๑๕ โดยสหพันธรัฐเยอรมันเล็กจะไม่รวมออสเตรียเข้าด้วย แต่ในที่สุดออสเตรียก็ร่วมมือกับรัสเซียบีบให้ปรัสเซียทำสนธิสัญญาโอลมึทซ์ (Treaty of Olmütz) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๐ โดยให้คงมีสมาพันธรัฐเยอรมันที่มีออสเตรียเป็นผู้นำสูงสุดต่อไป เหตุการณ์นี้เป็นการทำลายศักดิ์ศรีของปรัสเซียเป็นอันมาก จนเรียกกันต่อมาว่าความอัปยศแห่งโอลมึทซ์ (Humiliation of Olmütz) นับเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งนอกจากยุทธการที่เมืองเยนาและสนธิสัญญาทิลซิทที่ทำให้เจ้าชายวิลเลียมเจ็บปวดพระทัยและต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรีของปรัสเซีย ทั้งทำให้พระองค์ผิดหวังในพระเชษฐาและเหล่าเสนาบดีที่มีแนวคิดปฏิกิริยาขวาจัดในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเยอรมนีที่หลีกเลี่ยงและไม่ต้องการให้ปรัสเซียมีบทบาทเด่นกว่าออสเตรีย ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ในเวลาต่อมาหลังจากเจ้าชายวิลเลียมได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติก็ทรงดำเนินนโยบายการสร้างกองทัพให้แข็งแกร่งอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อจะไม่เป็นรองออสเตรียและไม่ให้กองทัพปรัสเซียและประเทศถูกหยามเกียรติได้อีก

 เมื่อการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ สิ้นสุดลง เจ้าชายวิลเลียมเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักที่โคเบลนซ์ (Coblenz) และทำหน้าที่ข้าหลวงฝ่ายทหาร (military governor) ในมณฑลไรน์แลนด์ (Rhineland) ซึ่งเป็นเขตศูนย์กลางของการต่อต้านนโยบายปฏิกิริยาขวาจัดของกรุงเบอร์ลินโดยบังเอิญด้วย มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นPreussische Wochenblatt เป็นกระบอกเสียง ทั้งมีการเรียกร้องจากผู้ใกล้ชิดของเจ้าชายวิลเลียม (และพระองค์ก็ทรงสนับสนุนด้วย) ให้รัฐบาลปรัสเซียปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายกับมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะในสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓–๑๘๕๖)* ระหว่างรัสเซียซึ่งมีส่วนที่ทำให้ปรัสเซียได้รับความอับอายใน “ความอัปยศแห่งโอลมึทซ์” กับอีกฝ่ายคืออังกฤษและฝรั่งเศส ขณะเดียวกันพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ ก็เปลี่ยนพระทัยกลับไปกลับมากับนโยบายการเข้าสู่สงครามนี้และถูกฝ่ายเจ้าชายวิลเลียมกดดันให้เป็นพันธมิตรกับฝ่ายอังกฤษจนกลายเป็นเรื่องที่สับสนทางการทูตซาร์นิโคลัสที่ ๑ (Nicholas I ค.ศ. ๑๘๒๕–๑๘๕๕)* แห่งรัสเซียซึ่งอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ (Charlotte) พระขนิษฐาในพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ ถึงกับทรงเปรยว่า “พี่ชายของภรรยาที่รักของข้าพเจ้าเข้าบรรทมทุกคืนเป็นคนรัสเซีย แต่ตื่นบรรทมทุกเช้ากลับเป็นคนอังกฤษ”

 อย่างไรก็ดี การเข้าสู่สงครามกับฝ่ายอังกฤษได้ถูกบิสมาร์คซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้แทนของปรัสเซียในสภาสหพันธ์ที่แฟรงก์เฟิร์ตคัดค้าน มีผู้เห็นด้วยกับบิสมาร์คจำนวนไม่น้อยและหนึ่งในนั้น ได้แก่ นายพลเลโอโปลด์ ฟอน เกสลัค (Leopold von Geslach) ราชองครักษ์ส่วนพระองค์ในพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ ที่บิสมาร์คให้ความเคารพนับถือ ในเวลาไม่ช้าเกสลัคได้เรียกบิสมาร์คไปถวายความคิดเห็นแก่พระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ ถึงเหตุผลที่ปรัสเซียไม่ควรร่วมเป็นฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศส สำหรับบิสมาร์คการปฏิเสธของออสเตรียที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับรัสเซียคือการทรยศต่อซาร์ที่เคยให้ความช่วยเหลือออสเตรียในการปราบปรามผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลออสเตรียและความพยายามแยกตัวเป็นอิสระของฮังการีจากออสเตรียในเหตุการณ์การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ปรัสเซียจึงควรดำเนินนโยบายเป็นกลางเพราะในอนาคตหากปรัสเซียต้องเผชิญปัญหากับออสเตรีย รัสเซียก็จะยืนหยัดเข้าข้างปรัสเซีย พระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ ทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอของบิสมาร์ค ซึ่งสร้างความไม่พอพระทัยเป็นอันมากให้แก่เจ้าชายวิลเลียมที่หวังจะนำปรัสเซียเข้าสู่สงครามเพื่อล้างความอับอายจากสนธิสัญญาโอลมึทซ์ ทั้งพระองค์ยังทรงเรียกข้อเสนอแนะของบิสมาร์คดังกล่าวอย่างเย้ยหยันว่าเป็น “การเมืองระดับเด็กนักเรียน” (schoolboy’s politics)

 ในเดือนตุลาคมค.ศ. ๑๘๕๗เมื่อพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ ทรงพระประชวรด้วยอัมพาตและมีพระสติฟั่นเฟือน (โดยความเป็นจริง พระเจ้าเฟรเดอริกวิลเลียมที่ ๔ มีพระอาการสัญญาวิปลาสก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว อันเกิดจากโรคบางชนิดที่มีผลต่อสมองความโลเลพระทัยในการดำเนินนโยบายสงครามในระหว่างสงครามไครเมียก็มีสาเหตุมาจากอาการพระประชวรที่เริ่มส่งสัญญาณแล้วในขณะนั้น) เจ้าชายวิลเลียมทรงได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อีก๑ปีต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๘ ก็ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการ เจ้าชายวิลเลียมทรงเห็นเป็นโอกาสประกาศเปิด “ยุคใหม่” (New Era) ทางการเมืองให้แก่ปรัสเซียโดยทรงเลือกคณะเสนาบดีที่มีแนวความคิดเสรีนิยมสายกลางเข้าร่วมในคณะรัฐบาล ขณะเดียวกันพระองค์ก็มีพระดำรัสที่จะปรับปรุงกองทัพปรัสเซียที่จำกัดเวลาการรับราชการทหารไว้เพียง ๒ ปี และให้ปฏิรูปกองกำลังป้องกันชาติ (Landwehr; civilian militia) ซึ่งเป็นทหารที่ไม่สังกัดในกองทัพบกประจำการ (regular army) แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพปรัสเซีย ในแต่ละกองพลน้อยประกอบด้วยทหารบกประจำการและทหารกองกำลังป้องกันชาติ โดยทหารประจำกองกำลังป้องกันชาติมีอำนาจแต่งตั้งนายทหารของตนเองและเป็นอิสระจากกองทัพบกประจำการด้วย

 ข้อปฏิบัติในกองทัพดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียกเกณฑ์ทหารและเรียกระดมพลทำให้กองทัพมีความซับซ้อนและทำให้ศักดิ์ศรีของกองทัพบกประจำการลดน้อยลงด้วย ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๖๐ เจ้าชายวิลเลียมในฐานะผู้สำเร็จราชการจึงร่วมมือกับนายพล เคานต์อัลแบรชท์ ฟอน โรน (Albrecht von Roon)* เสนาบดีว่าการกระทรวงสงครามจัดทำแผนการปฏิรูปกองทัพปรัสเซียต่อมาก็ทรงเสนอร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปกองทัพแก่รัฐสภาเพื่อพิจารณา แผนการปฏิรูปและเพิ่มกำลังกองทัพประกอบด้วยการเกณฑ์ทหารประจำปีเพื่อเพิ่มจำนวนทหารประจำการอีกจำนวน ๑ เท่า ขยายเวลารับราชการทหารเป็น ๓ ปี ยกเลิกบทบาทและความเป็นเอกเทศของกองกำลังแห่งชาติ พร้อมกับเสนอตั้งงบประมาณทางการทหารมากขึ้นเพื่อขยายกองกำลังการจัดตั้งกรมทหารใหม่ ๆ ค่ายทหาร โรงเรียนทหารและสนามฝึกทหาร

 นอกจากพระประสงค์ที่จะกู้ศักดิ์ศรีของกองทัพปรัสเซียและการปฏิรูปกองทัพ เจ้าชายวิลเลียมยังประเมินสถานการณ์ในยุโรปที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๑๘๕๐ เป็นต้นมา การจัดตั้ง จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)* ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ สงครามไครเมียและการเคลื่อนไหวเพื่อการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy)* ล้วนเป็นเหตุการณ์สำคัญระหว่างประเทศที่ปรัสเซียไม่สามารถนิ่งนอนใจอยู่ได้ การคงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของปรัสเซียขึ้นอยู่กับการสร้างปรัสเซียให้เป็นรัฐทหารดังที่ปรากฏในรัชสมัยพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๒ มหาราช (Frederick II the Great ค.ศ. ๑๗๔๐–๑๗๘๖) อย่างไรก็ดี เมื่อร่างพระราชบัญญัติถูกนำเสนอในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) ก็ถูกพวกชนชั้นกลางซึ่งโดยทั่วไปคือพวกเสรีนิยมโจมตีผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อใช้ในโครงการนี้ อีกจำนวนหนึ่งไม่พอใจกับการลดบทบาทของกองกำลังป้องกันชาติซึ่งจัดตั้งขึ้นในช่วงสงครามนโปเลียน (ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕) และมีบทบาทสำคัญในการกู้ชาติทั้งจะเป็นการทำลายประเพณี “ทหารราษฎร” (“citizen-soldier” tradition) ที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานในปรัสเซีย ส่วนการเพิ่มระยะเวลาของการเข้ารับราชการทหารก็จะทำให้ปรัสเซียเป็นรัฐทหารและทำลายค่านิยมของเสรีภาพและความเป็นปัจเจกบุคคลของพลเมือง นอกจากนี้หลายฝ่ายยังเห็นว่าเมื่อปรัสเซียยังไม่ได้กำหนดนโยบายการต่างประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะจัดตั้งกองกำลังทหารขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งอาจจะตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการใช้กำลังทหารเพื่อทำหน้าที่ตำรวจในการสกัดกั้นหรือปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวของลัทธิเสรีนิยม สภาผู้แทนราษฎรต้องการทราบรายละเอียดของการใช้งบประมาณในการปรับปรุงกองทัพ แต่เจ้าชายวิลเลียมทรงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามเพราะทรงเห็นว่าการดำเนินการปฏิรูปกองทัพเป็นเรื่องของทหารและอยู่ในขอบเขตอำนาจของพระองค์ในฐานะผู้นำของกองทัพ อย่างไรก็ดี ในที่สุดรัฐบาลก็จำต้องถอนร่างพระราชบัญญัติจากสภาเพื่อนำไปแก้ไขใหม่

 หลังการถอนพระราชบัญญัติปฏิรูปกองทัพไปแล้วและรัฐบาลได้ทำเสนอของบประมาณพิเศษจำนวน ๙ ล้านเหรียญเงิน (thaler) เพื่อปรับปรุงหน่วยทหารต่างๆที่มีอยู่ในขณะนั้นแต่เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติเงินงบประมาณดังกล่าว เจ้าชายวิลเลียมที่ ๑ กลับนำเงินงบประมาณที่ได้รับไปใช้ในการปฏิรูปกองทัพโดยไม่เสนอเรื่องผ่านสภาอีกครั้ง พรรคเสรีนิยมจึงประท้วง ความขัดแย้งระหว่างเจ้าชายวิลเลียมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็เขม็งเกลียวยิ่งขึ้น และเลวร้ายลงเมื่อพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ เสด็จสวรรคตในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๖๑ และเจ้าชายวิลเลียมได้สืบราชสมบัติในพระนามพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑

 ขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นพวกเสรีนิยมจำนวน ๑๗ คนก็แยกตัวออกจากพรรคเสรีนิยมและจัดตั้งพรรคก้าวหน้า (Progressive Party) ขึ้น ต่อมาพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ซึ่งทรงคาดว่าหากพวกอนุรักษนิยมได้รับที่นั่งในสภามากขึ้นก็คงทำให้ปัญหาต่าง ๆ จบลงได้ พระองค์จึงประกาศยุบสภาและโปรดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ผลของการเลือกตั้งในปลาย ค.ศ. ๑๘๖๑ กลับปรากฏว่าพวกเสรีนิยมได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นและพรรคก้าวหน้ามีสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งกว่า ๑๐๐ คน ส่วนฝ่ายอนุรักษนิยมมีที่นั่งเหลือเพียง ๑๕ ที่นั่งเท่านั้น ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๘๖๒ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงประกาศยุบสภาอีกและให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๖๒ ผลปรากฏว่าผู้ได้รับเลือกตั้งใหม่กว่า ๒๓๐ คน ในจำนวน ๓๒๕ คนเป็นพวกเสรีนิยม จึงก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้นอีกระลอกโดยสมาชิกสภาฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษนิยมต่างขัดแย้งกันมากขึ้นฝ่ายเสรีนิยมเห็นเป็นโอกาสที่จะใช้วิกฤตการณ์นี้เข้าควบคุมทั้งกองทัพและการบริหารประเทศ ส่วนฝ่ายอนุรักษนิยมก็โอนเอียงไปทางพวกปฏิกิริยาขวาจัดและต้องการใช้กำลังทหารเข้าแก้ปัญหาและยึดอำนาจสภาและจัดตั้งรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น อย่างไรก็ดีพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงปฏิเสธแนวทางของพวกนักปฏิกิริยาขวาจัด เพราะทรงรักษาคำปฏิญาณที่จะรักษารัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ทรงปฏิเสธที่จะให้รัฐสภาก้าวก่ายแผนการปฏิรูปกองทัพของพระองค์ในเวลาไม่ช้าวิกฤตการณ์ก็ขยายตัวมากขึ้นเพราะสภาผู้แทนราษฎรปฏิเสธที่จะผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณทำให้รัฐอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้และตกอยู่ในสภาวะชะงักงัน พระเจ้าวิลเลียมที่๑ทรงสิ้นหวังและเกือบจะประกาศสละราชสมบัติขณะที่ทรงกำลังร่างคำประกาศสละราชสมบัตินั้นเสนาบดีโรนได้ทูลแนะนำให้พระองค์ทรงแต่งตั้งบิสมาร์คซึ่งเป็นนักการทูตและนักพูดที่มีความสามารถเป็นอัครมหาเสนาบดีเพื่อช่วยพระองค์แก้ไขวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

 แม้พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ จะมีความคิดเห็นขัดแย้งกับบิสมาร์คมาก่อน แต่ด้วยคำแนะนำของโรนที่พระองค์ไว้วางพระทัยก็ทรงเรียกบิสมาร์คให้กลับมาปรัสเซียโดยด่วน ซึ่งขณะนั้นบิสมาร์คกำลังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตปรัสเซียประจำฝรั่งเศสบิสมาร์คมีความเห็นสอดคล้องกับพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ และเสนอให้พระองค์ปฏิรูปกองทัพ ใช้งบประมาณ และการเก็บภาษีโดยไม่ต้องรอความเห็นชอบจากสภา นอกจากนี้บิสมาร์คยังแสดงตนว่าเป็นนักชาตินิยมที่ต้องการขยายบทบาทและอำนาจของปรัสเซียและให้ราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นเป็นผู้นำเยอรมันแทนออสเตรียซึ่งสอดคล้องกับความคิดของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ระหว่าง ๔ ปีแรก (ค.ศ. ๑๘๖๒–๑๘๖๖) ที่บิสมาร์คมีอำนาจในฐานะอัครมหาเสนาบดี เขาได้เมินเฉยต่อรัฐธรรมนูญทั้งทำให้พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ บรรลุเป้าหมายในการขยายอำนาจให้แก่ปรัสเซียโดยใช้วิธีทั้งทางการทูตและการสงครามตามนโยบาย “เลือดและเหล็ก” (Blood and Iron) ของเขา ในเบื้องต้นปรัสเซียได้ร่วมมือกับรัฐเยอรมันต่าง ๆ ซึ่งออสเตรียเป็นผู้นำในการทำสงครามกับเดนมาร์กใน ค.ศ. ๑๘๖๔ ด้วยการแย่งสิทธิในการครอบครองแคว้นชเลสวิก (Schleswig) และโฮลชไตน์ (Holstein) ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน เดนมาร์กเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ปรัสเซียได้บริหารแคว้นชเลสวิกและออสเตรียบริหารแคว้นโฮลชไตน์เป็นการชั่วคราว และต่อมาได้ทำสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War)* ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ โดยอ้างสาเหตุว่าออสเตรียยุยงให้ประชาชนในแคว้นโฮลชไตน์ต่อต้านปรัสเซีย โดยก่อนหน้านี้บิสมาร์คได้เจรจาลับกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒–๑๘๗๐)* แห่งฝรั่งเศสและกับราชอาณาจักรอิตาลีที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น (แต่ยังไม่สมบูรณ์) ที่จะแบ่งปันผลประโยชน์หากฝรั่งเศสวางตัวเป็นกลางและอิตาลีให้ความช่วยเหลือปรัสเซียในกรณีที่ปรัสเซียก่อสงครามกับออสเตรีย

 สงครามเจ็ดสัปดาห์ทำให้ออสเตรียถูกขับออกจากสมาพันธรัฐเยอรมันและทำให้ออสเตรียซึ่งเคยรวมตัวกับดินแดนเยอรมันเป็นเวลากว่า ๕๐๐ ปี หมดบทบาทลง ปรัสเซียได้กลายเป็นผู้นำของสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ (Northern German Confederation)* ที่จัดตั้งขึ้นใหม่อันประกอบด้วยรัฐเยอรมัน ๑๙ รัฐ กับเสรีนครอีก ๓ แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำไมน์ (Main) ส่วนรัฐทางตอนใต้มิได้รวมตัวด้วย โดยพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงมีฐานะเป็นประธานสมาพันธรัฐและมีอำนาจสูงสุดในการบริหารสมาพันธรัฐ ทรงรับผิดชอบต่อนโยบายต่างประเทศ การประกาศสงคราม และการเจรจาสันติภาพรวมทั้งการเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสมาพันธรัฐ มีอำนาจในการแต่งตั้งอัครมหาเสนาบดีซึ่งรับผิดชอบโดยตรงต่อพระองค์และเสนาบดีของสมาพันธรัฐ

 อย่างไรก็ดี ในระยะแรกพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ มิได้ทรงเห็นด้วยกับแผนการของบิสมาร์คที่จะใช้สงครามเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ปรัสเซียโดยการหาเหตุทำสงครามกับเดนมาร์กและออสเตรียตามนโยบายการเมืองที่เป็นจริง (Realpolitik)* ต่อมาเมื่อสงครามเจ็ดสัปดาห์ใกล้สิ้นสุดลง พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ต้องการที่จะลงโทษออสเตรียให้ได้รับความอับอายเฉกเช่นที่ปรัสเซียเคยประสบในการทำสนธิสัญญาโอลมึทซ์ บิสมาร์คกลับคัดค้านและแสดงท่าทีจะลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีหากพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ จะทรงมุ่งมั่นเผด็จศึกและยกกองทัพเข้าโจมตีและยึดครองกรุงเวียนนา ท้ายที่สุดพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ จึงทรงจำต้องยกเลิกแผนการดังกล่าวในเวลาต่อมาเมื่อปรัสเซียประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูอำนาจของปรัสเซียในดินแดนเยอรมันตามที่พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ตั้งพระราชปณิธานไว้ และสงครามก็มิได้ทำให้ปรัสเซียมีความขัดแย้งกับนานาประเทศ ทำให้พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ในพระชันษา ๖๙ ปีเริ่มไว้วางพระทัยในตัวบิสมาร์คมากขึ้น นับแต่นั้นเป็นต้นมาพระองค์ก็ค่อย ๆวางมือทางการเมืองและการบริหาร และมอบหมายให้บิสมาร์คเป็นผู้บริหารปรัสเซียที่แท้จริงแต่เพียงผู้เดียว

 ในด้านการเมืองภายใน ชัยชนะในสงครามกับเดนมาร์กและสงครามเจ็ดสัปดาห์ก่อให้เกิดการขานรับนโยบายการปฏิรูปกองทัพและการขยายกองทัพของปรัสเซียที่พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ มีพระราชดำริตั้งแต่แรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายหลังสงครามเจ็ดสัปดาห์สิ้นสุดลงปรากฏว่าพรรคเสรีนิยมที่เคยต่อต้านพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ พ่ายแพ้อย่างยับเยิน และเปิดโอกาสให้พรรคอนุรักษนิยมได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวน ๑๔๒ คนจากเดิม ๓๘ คน และทำให้พรรคการเมืองอื่น ๆ หมดบทบาทในสภาด้วยอย่างไรก็ดี เพื่อให้พรรคเสรีนิยมและสภาผู้แทนราษฎรไม่เสียหน้าที่จะสนับสนุนบิสมาร์คในอนาคต พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ มีพระราชดำรัสต่อสภาและทรงยอมรับว่าการกระทำของรัฐบาลภายใต้การนำของบิสมาร์คเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงขอให้สภาผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมรัฐบาลและทำให้งบประมาณ ค.ศ. ๑๘๖๒ ถูกต้องตามหลักนิติบัญญัติ (รวมทั้งการใช้เงินตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๒ เป็นต้นมา) ขณะเดียวกันพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ก็ทรงชี้แจงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการดังกล่าวไปโดยปราศจากความเห็นชอบของสภา ที่ประชุมได้ลงคะแนนเสียงผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมด้วยเสียงข้างมากทำให้สภาผู้แทนราษฎรกับพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ กับบิสมาร์คสามารถปรองดองกันได้และทำให้การจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือเป็นผลงานที่น่าชื่นชมยินดีของนักการเมืองได้อย่างสุจริตใจ วิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างสภากับสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๐ เป็นต้นมาก็สิ้นสุดลงด้วยดี

 ช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ที่สุดของรัชกาลพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ได้รับสถาปนาเป็นไกเซอร์หรือจักรพรรดิของจักรวรรดิเยอรมันใน ค.ศ. ๑๘๗๑ จักรวรรดิเยอรมันเป็นผลงานของบิสมาร์คที่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการรวมรัฐเยอรมันเข้าด้วยกันบิสมาร์คได้ดำเนินแผนการรวมเยอรมันโดยยั่วยุให้ฝรั่งเศสก่อสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (ค.ศ. ๑๘๗๐–๑๘๗๑)เขาใช้สาเหตุการสืบราชบัลลังก์สเปนที่เจ้าชายเลโอโปลด์(Leopold)สมาชิกราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นพระองค์หนึ่งได้รับอัญเชิญให้เป็นกษัตริย์ของสเปนซึ่งทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจกอปรกับการที่บิสมาร์คดัดแปลงโทรเลขจากเมืองเอมส์ (Ems Telegram)* ที่พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ มีพระราชดำรัสถึงบิสมาร์คและเล่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเมื่อคณะเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าพระองค์เพื่อคาดคั้นให้พระองค์เลิกสนับสนุนเจ้าชายเลโอโปลด์ไปในทำนองว่าฝรั่งเศสได้ลบหลู่พระเกียรติยศของพระประมุข ขณะเดียวกันปรัสเซียก็ไม่ให้เกียรติคณะเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสด้วยสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียจึงอุบัติขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๐ พร้อม ๆ กับการรวมตัวของรัฐเยอรมันทั้งเหนือและใต้เพื่อทำสงครามกับฝรั่งเศสพระเจ้าวิลเลียมที่๑ทรงมีบทบาทในการนำทัพออกรบด้วย ทั้งยังใช้พระราชอำนาจในการยุติข้อขัดแย้งระหว่างบิสมาร์คกับจอมพล เฮลมุท คาร์ล แบร์นฮาร์ด ฟอน มอลท์เคอ (Helmuth Karl Bernhard von Molke)* เสนาธิการทหารและนักวางแผนยุทธศาสตร์ซึ่งขัดแย้งกันในเรื่องการเผด็จศึกโดยทรงเห็นด้วยกับบิสมาร์คว่าการดำเนินการทางการเมืองมีความสำคัญกว่าการทหาร

 สงครามสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑ โดยฝรั่งเศสเป็นฝ่ายปราชัยอย่างยับเยิน ก่อนหน้านี้ ๑๐ วัน คือในวันที่๑๘มกราคมก็ได้มีการจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมันและสถาปนาพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ แห่งปรัสเซียเป็นไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ “จักรพรรดิชาวเยอรมัน” (GermanEmperor) ณ ห้องกระจก (Salle des Glaces; Hall of Mirrors) พระราชวังแวร์ซายโดยมีแกรนด์ดุ๊กแห่งบาเดินเป็นหัวหน้าคณะประมุขของรัฐเยอรมันทั้งตอนเหนือและตอนใต้ในการถวายพระอิสริยศดังกล่าว [ผู้ที่ไม่มาร่วมในพิธีสถาปนาคือพระเจ้าลุดวิกที่ ๒ (Ludwig II ค.ศ. ๑๘๖๔–๑๘๘๖) แห่งบาวาเรียซึ่งมีพระเกียรติยศสูงสุดรองจากกษัตริย์แห่งปรัสเซียในดินแดนเยอรมัน] พิธีจัดขึ้นอย่างง่ายๆไม่มีทั้งพระราชพิธีสวมมงกุฎและไม่มีมงกุฎประจำรัชกาลด้วย เพราะเหตุผลทางการเมืองเนื่องจากจักรวรรดิเยอรมันยังประกอบด้วยดินแดนต่าง ๆ ที่ยังมีระบอบกษัตริย์และเจ้าราชรัฐส่วนการเลือกเอาวันที่ ๑๘ มกราคมก็มีความหมายในประวัติศาสตร์ปรัสเซียเพราะเป็นวันที่เฟรเดอริกที่ ๓ อิเล็กเตอร์แห่งบรันเดน-บูร์ก (Frederick III Elector of Brandenburg) ได้สถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าเฟรเดอริกที่๑(Frederick I ค.ศ. ๑๗๐๑–๑๗๑๓) “กษัตริย์ในปรัสเซีย” (king in Prussia) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนสถานภาพของประมุขราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นให้มีฐานะเป็นกษัตริย์และเป็น “กษัตริย์แห่งปรัสเซีย” (king of Prussia) ได้ในที่สุดใน ค.ศ. ๑๗๗๒ ตรงกับรัชกาลพระเจ้าเฟรเดอริกมหาราช

 อย่างไรก็ดี การเฉลิมพระอิสริยยศ “จักรพรรดิชาวเยอรมัน” ของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ก็ไม่เป็นที่ถูกพระทัย เพราะพระองค์หวังจะมีพระอิสริยยศจักรพรรดิแห่งเยอรมนี (Emperor of Germany) แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของกษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ที่ราชอาณาจักรรวมอยู่ในจักรวรรดิเยอรมันในฐานะเป็นสมาชิกของสหพันธรัฐ ส่วนพระอิสริยยศ “จักรพรรดิของชาวเยอรมัน” (Emperor of the Germans) ที่พระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ พระเชษฐาทรงได้รับการเสนอใน ค.ศ. ๑๘๔๐ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของพระองค์เพราะทรงถือว่าพระองค์ทรงได้รับเลือกโดยพระหรรษทานแห่งพระเป็นเจ้า (by the Grace of God) ไม่ใช่จากประชาชน อีกทั้งพระองค์ทรงหวั่นวิตกว่าวันที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นวันจุดสูงสุดของรัชกาลของพระองค์ที่มีการสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันนั้นที่แท้จริงก็คือวันที่ “หามปรัสเซียเก่าไปยังหลุมฝังศพ” และเป็นการปิดฉากความยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรปรัสเซีย จนถึงกับมีพระราชดำริว่า “เป็นวันที่ข้าพเจ้าไม่มีความสุขที่สุดในชีวิต” และทรงคิดที่จะสละราชสมบัติทันทีหลังพิธีสถาปนาและมอบบัลลังก์ต่อให้เจ้าชายเฟรเดอริกพระราชโอรส กระนั้นพระองค์ก็ทรงปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนการของบิสมาร์ค เพราะทรงเชื่อมั่นและไว้วางพระทัยในบิสมาร์คที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น รวมทั้งนายพล เคานต์อัลแบรชท์ ฟอน โรน เสนาบดีว่าการกระทรวงสงคราม และจอมพล มอลท์เคอ ซึ่งทั้ง ๓ คนดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นผู้สร้างกองทัพปรัสเซียให้มีความเข้มแข็งจนมีชัยชนะในสงครามเดนมาร์ก สงครามเจ็ดสัปดาห์ และสงครามพิธีสถาปนาไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ ณ ห้องกระจก


ฝรั่งเศส-ปรัสเซียที่สร้างเกียรติภูมิให้แก่ปรัสเซียเป็นอันมาก

 นับแต่การรวมชาติเยอรมันประสบความสำเร็จปรัสเซียก็เข้าไปมีบทบาทเป็นรัฐผู้นำของจักรวรรดิรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐให้อำนาจแก่อัครมหาเสนาบดีเป็นผู้กำหนดนโยบายปกครองและให้รับผิดชอบโดยตรงต่อไกเซอร์เท่านั้น ส่วนคณะเสนาบดีก็ขึ้นตรงต่ออัครมหาเสนาบดี โดยนัยนี้บิสมาร์คซึ่งเป็นที่ไว้วางพระทัยของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ จึงบริหารประเทศได้อย่างอิสระและสามารถใช้อำนาจของเขาในขอบเขตที่กว้างขวางที่สุด ส่วนไกเซอร์ซึ่งมีพระชนมายุกว่า ๗๐ พรรษา ก็ทรงจำกัดบทบาทและพระราชอำนาจในด้านการเมืองของพระองค์ และทรงปล่อยให้บิสมาร์คเป็นผู้กำหนดนโยบายทั้งภายในและการต่างประเทศแต่ผู้เดียว

 อย่างไรก็ดี ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ ก็มิได้ทำหน้าที่เป็นเพียง “เงา” (shadow figure) ในบทบาทพระประมุขของจักรวรรดิและมักทรงแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับบิสมาร์คในเรื่องนโยบายสำคัญเสมอ เช่น นโยบาย “คุลทัวร์คัมฟ์” หรือการต่อสู้ทางวัฒนธรรม (Kulturkampf ค.ศ. ๑๘๗๑–๑๘๘๗)* ที่บิสมาร์คได้ร่วมมือกับพวกเสรีนิยมในสภาต่อต้านคริสตจักรคาทอลิก เพื่อลดบทบาทและสิทธิต่าง ๆ ของคริสตจักรคาทอลิกที่มีมาแต่ดั้งเดิมในเยอรมนี ซึ่งพระองค์ทรงเห็นด้วยแต่เฉพาะกรณีการจดทะเบียนสมรสที่อำเภอเท่านั้น และการเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาสูงในปรัสเซียเพื่อให้มีเสียงเพียงพอที่จะชนะฝ่ายตรงข้ามในการผ่านร่างพระราชบัญญัติสำคัญ ๆ หรือในกรณีที่บิสมาร์คต้องการปลดนายพลอัลแบรชท์ ฟอน ชตอช (Albrecht von Stosch) จากผู้บัญชาการทหารเรือ หรือต้องการให้รูดอล์ฟ ฟอน เบนนิกเซิน (Rudolph von Bennigsen) และนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยมจำนวนหนึ่งเข้าร่วมในคณะรัฐบาลซึ่งขัดกับพระราชประสงค์ เป็นต้น ความขัดแย้งดังกล่าวมักจบลงด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวการบันดาลโทสะน้ำตา และการข่มขู่จะลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีของบิสมาร์ค ทุกครั้งไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ ก็มักทรงยอมประนีประนอมด้วยเสมอ สำหรับพระองค์บิสมาร์ค คือ “บุรุษขี่ม้าขาว” เพียงคนเดียวที่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ระหว่างพระองค์กับสมาชิกสภาปรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ ที่ทำให้พระองค์ทรงครองราชสมบัติต่อไปได้ ทั้งพระองค์จะไม่ทรงยินยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใดแม้แต่พระมเหสีและพระราชโอรสเข้ามาก้าวก่ายการดำเนินงานหรือการบริหารประเทศของบิสมาร์คการเข้าแทรกแซงในการดำเนินนโยบายของบิสมาร์คเป็นอำนาจและอภิสิทธิ์ของพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ เมื่อบิสมาร์คมีปัญหาขัดแย้งกับไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ และแสดงความประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งอีกครั้ง ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ ก็ทรงตอบเขาว่า “ไม่มีทาง” (Never) และทรงพยายามไม่ขัดแย้งกับบิสมาร์คอีกต่อไป

 เมื่อเกิดความผันผวนในความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี กับรัสเซีย และทำให้ความร่วมมือของสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund; League of the Three Emperors)* ที่ทั้ง ๓ ประเทศเป็นสมาชิกสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๘๗๘ และไม่ได้ต่อสัญญากันอีกในปีต่อมาเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีได้ปรับปรุงระบบพันธมิตรใหม่ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี (Dual Alliance)* ซึ่งสำหรับไกเซอร์เป็นการทรยศต่อความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับรัสเซียที่มีความใกล้ชิดกันมาเนิ่นนานดังนั้น ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ จึงทรงพยายามโน้มน้าวให้บิสมาร์คสร้างสัมพันธภาพกับรัสเซียต่อไปอีก [นอกจากพระองค์จะถือว่ารัสเซียคือมิตรแท้ของเยอรมนีแล้วซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II ค.ศ. ๑๘๕๕–๑๘๘๑)* คือพระญาติสนิทและเป็นพระภาติยะ(หลานลุง) ของพระองค์] ในที่สุดก็มีการจัดตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิขึ้นมาใหม่ใน ค.ศ. ๑๘๘๑

 แม้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ จะไม่มีบทบาทในการวางนโยบายบริหารจักรวรรดิเยอรมันแต่พระองค์ก็ตกเป็นเป้าหมายในการลอบปลงพระชนม์ถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ โดยคนร้ายชื่อ เอมิล มักซ์ โฮเดิล (Emil Max Hodel) สาดกระสุนใส่พระองค์และเจ้าหญิงลุยส์แห่งปรัสเซีย (Louis of Prussia) พระราชธิดาขณะนั่งประทับรถม้าพระที่นั่งในขบวนพาเหรด แต่กระสุนพลาดไม่ถูกพระองค์ ต่อมา ในวันที่ ๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๗๘ คาร์ล โนบีลิง (Karl Nobiling) พวกอนาธิปัตย์ลอบปลงพระชนม์จากหน้าต่างของบ้านหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมถนนที่พระองค์เสด็จผ่านในรถม้าพระที่นั่งเปิดประทุน กระสุนถูกพระองค์ทำให้ไกเซอร์ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุถึง ๘๒ พรรษา บาดเจ็บสาหัสและพระโลหิตไหลท่วม จนต้องรีบพาเสด็จกลับพระราชวัง แต่พระองค์ก็ทรงปลอดภัยบิสมาร์คจึงเห็นเป็นโอกาสประกาศยุบสภาไรค์ชตาก (Reichstag) ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเสรีนิยมแห่งชาติ (National Liberal Party) และพรรคก้าวหน้าคว่ำบาตรร่างพระราชบัญญัติเพื่อดำเนินการกำจัดบทบาทและอิทธิพลของพรรคสังคมนิยมที่กำลังเติบใหญ่ในเยอรมนีขณะนั้น ทั้งที่ไม่มีหลักฐานว่าการลอบปลงพระชนม์เกี่ยวข้องกับพวกสังคมนิยม บิสมาร์คได้กล่าวโจมตีพรรคเสรีนิยมแห่งชาติและพรรคก้าวหน้าว่าทำให้พวกสังคมนิยมได้ใจและลอบปลงพระชนม์อีกครั้ง การโจมตีของบิสมาร์คดังกล่าวประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งเพราะสามารถทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเลิกสนับสนุนพรรคเสรีนิยมและพรรคก้าวหน้า ทำให้พรรคการเมืองทั้งสองต้องหันมาให้ความร่วมมือกับบิสมาร์คจนสภาสามารถผ่านกฎหมายต่อต้านสังคมนิยม (Anti-Socialist Law) ได้สำเร็จ

 ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ ยังคงปฏิบัติพระองค์เช่นทหารที่ดีต่อไป ทรงประหยัดและมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ทรงต่อต้านความสุขสบายต่าง ๆ แม้กระทั่งการติดตั้งเครื่องทำความร้อนในห้องสรงในพระราชวังที่เบอร์ลินก็ทรงเห็นว่ามีราคาแพงเกินไป และทรงสรงน้ำสัปดาห์ละ ๑ ครั้งเท่านั้นไม่โปรดให้รถม้าพระที่นั่งหุ้มยางล้อเพราะทรงเห็นว่าเกินความจำเป็นทั้งที่จะลดแรงกระเทือนและทำให้ผู้นั่งมีความสบายขึ้น นอกจากนี้ยังโปรดที่จะประทับแต่ในราชอาณาจักรปรัสเซียและไม่เสด็จไปยังที่อื่น ๆ เลย ส่วนเครื่องแบบที่ทรงสวมใส่เป็นประจำมักจะใช้เนื้อผ้าที่คงทน ไกเซอร์ทรงงานอย่างสม่ำเสมอและมักตรัสบ่อยๆว่า “ฉันไม่มีเวลาที่จะพักผ่อนเลย” ทุกวันในเวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา ไกเซอร์จะเสด็จไปประทับยืนที่พระแกลริมสุดในห้องทรงพระอักษรเพื่อทอดพระเนตรการเปลี่ยนเวรของทหารรักษาพระองค์ ซึ่งจะมีประชาชนจำนวนมากพากันมาเฝ้าชมพระบารมีด้วย เมื่อพระวรกายทรงอ่อนแอมากขึ้นเพราะโรคชราและพระราชวงศ์พยายามที่จะหว่านล้อมไม่ให้พระองค์เสด็จไปประทับยืนที่หน้าพระแกลอีกต่อไป ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ ทรงปฏิเสธและตรัสว่า “ฉันต้องทำ เพราะหนังสือ Baedeker (หนังสือคู่มือท่องเที่ยว) บอกว่าฉันจะปรากฏตัวให้เห็นจากที่นี่”

 ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๘๘ สิริพระชนมายุ ๙๐ พรรษา ไกเซอร์เฟรเดอริกที่ ๓ พระราชโอรสได้สืบราชสมบัติต่อมา ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ ทรงได้รับการยกย่องและจดจำว่าเป็นกษัตริย์ผู้มีสำนึกสูงในหน้าที่ ความกล้าหาญคุณธรรม ความยุติธรรม ความละเอียดรอบคอบ ความสมถะ ความเป็นนักปรัสเซียนิยม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประเมินความสามารถของพระองค์เองและการรู้จักใช้คน การสนับสนุนบุคคลที่พระองค์ไว้วางพระทัย และมีความตั้งใจในการทำงานเพื่อประเทศชาติ.



คำตั้ง
William I
คำเทียบ
ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑
คำสำคัญ
- กฎหมายต่อต้านสังคมนิยม
- การต่อสู้ทางวัฒนธรรม
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การเมืองที่เป็นจริง
- การรวมชาติเยอรมัน
- การรวมชาติอิตาลี
- ความอัปยศแห่งโอลมึทซ์
- คุลทัวร์คัมฟ์
- โทรเลขจากเมืองเอมส์
- นโปเลียนที่ ๑
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- มอลท์เคอ, จอมพล เฮลมุท คาร์ล แบร์นฮาร์ด ฟอน
- ยุทธการที่เมืองเยนา
- ยุทธการที่ลีญี
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สงครามไครเมีย
- สงครามเจ็ดสัปดาห์
- สงครามนโปเลียน
- สงครามปลดปล่อย
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สนธิสัญญาทิลซิท
- สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี
- สนธิสัญญาโอลมึทซ์
- สภาไรค์ชตาก
- สภาแห่งชาติแฟรงก์เฟิร์ต
- สมาพันธรัฐเยอรมัน
- สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ
- สันนิบาตสามจักรพรรดิ
- ออสเตรีย-ฮังการี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1797–1888
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๙๙–๒๔๓๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-